บ้านสไตล์ลอฟท์หลังเล็ก
บ้านสไตล์ลอฟท์หลังเล็ก รีวิวบ้านชั้นเดียว สไตล์ Loft สุขไปกับวิวธรรมชาติ องค์ประกอบลักษณะบ้านในฝันของผู้อ่านมีอะไรกันบ้างครับ สำหรับแอดมินเองสิ่งสำคัญที่ต้องมีนั่นคือ วิวทิวทัศน์สวย สังคมดี ทำเลดี และที่ขาดไม่ได้บ้านต้องมีดีไซน์ จะว่าไปทั้ง 4 องค์ประกอบนี้ อาจเป็นลักษณะพื้นฐานที่ใครๆก็อยากได้ แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้ดั่งใจหวัง สำหรับคอลัมน์ “บ้านไอเดียแฟมิลี่”
วันนี้ พาคุณผู้ชมขึ้นเหนือไปเยี่ยมชมบ้านของคุณนนท์ สมาชิกกลุ่มบ้านไอเดีย ซึ่งได้สร้างบ้านในฝันของตนเองได้สำเร็จ บ้านหลังนี้นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหลังแห่งความภาคภูมิใจของบ้านไอเดีย เนื่องด้วยคุณนนท์ได้บอกกับทีมงานว่า ได้ชมไอเดียแบบบ้านต่างๆจากเว็บไซต์ banidea.com นำไอเดียจากหลายๆหลังมาผสมรวมกัน เลือกเฉพาะส่วนที่อยากได้ ก่อร่างรวมตัวจนเป็นบ้านที่พอเหมาะพอดีกับความต้องการอยู่อาศัย หากท่านใดเป็นสมาชิกกลุ่มบ้านไอเดีย อาจจะเคยได้เห็นผ่านตากันมาบ้าง เนื่องด้วยตลอดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง คุณนนท์ได้ทำการถ่ายภาพรีวิวมาให้ชมกันในกลุ่มอยู่บ่อยๆครับ
เจ้าของบ้าน : ชัยยวัฒน์ หงษ์ทอง
ภาพถ่าย : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
งบประมาณ : 1.55 ล้านบาท
บ้านหลังนี้สร้างไว้ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ อำเภอแม่ริม หากบอกชื่ออำเภอหลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่หากบอกแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น “ม่อนแจ่ม” เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านต้องร้อง อ๋อออ.. โดยที่ดินผืนนี้เป็นของพี่สาวคุณนนท์ บริเวณรอบๆบ้านส่วนใหญ่เป็นญาติมิตร รู้จักกันตั้งแต่วัยเด็ก สำหรับการออกแบบบ้าน คุณนนท์เล่าให้ทีมงานฟังว่า เดิมทีอยากได้แบบบ้านหลากหลายมาก บางแบบสวยถูกใจเป็นพิเศษ แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแล้วจำเป็นต้องลงทุนเยอะ จึงค่อยๆมองหาไอเดียต่างๆจากบ้านแต่ละหลัง บ้านหลังนี้ใช้ไอเดียจากบ้าน 3 หลังมาประยุกต์ผสมรวมกัน เมื่อได้แบบในใจไว้แล้วคุณนนท์จึงจ้างให้ช่างเขียนแบบ เขียนแปลนเพื่อใช้สำหรับขออนุญาตก่อสร้าง
ออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียว 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ สร้างไว้บนที่ดินขนาด 88 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอยรวม 128 ตร.ม. และชั้นดาดฟ้าอีก 20 ตร.ม. การออกแบบเน้นพื้นที่ใช้สอยหลังบ้านมากกว่าหน้าบ้าน เนื่องด้วยวิวทิวทัศน์และความเป็นส่วนตัว โซนหลังบ้านจึงเหมาะกับการพักผ่อนมากกว่าหน้าบ้าน มุมโปรดที่สุดเป็นลานระเบียงไม้ ใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นสบายๆยามเย็น นั่งชมวิวท้องทุ่งนาเขียวขจี ชมพระอาทิตย์ตกดินบนยอดดอยสุเทพ บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ความเหนื่อยล้าจากหน้าที่การงาน ค่อยๆผ่อนคลายจางหายไปพร้อมๆกับพระอาทิตย์ที่กำลังลับตา
ลานระเบียงหลังบ้านใช้ไม้จริง เป็นไม้เนื้อแข็งทนแดดทนฝน แอดมินขออนุญาตเรียกว่า “ลานนา” ลาน มาจากคำ ลานระเบียง นา มาจากทุ่งนา ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมของบ้าน และหากนำคำดังกล่าวมาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ จะได้คำว่า “Lanna” ซึ่งตรงกับคำว่า “ล้านนา” ในภาษาเหนือ เป็นคำล้อให้เทียบเคียงสองความหมาย ขออนุญาตตั้งเป็นชื่อบ้าน “Loft Lanna” ให้กับคุณนนท์ โดยลานระเบียงออกแบบยกสูงเป็นพิเศษ เนื่องด้วยหลังบ้านติดลำเหมือง การยกสูงจะช่วยป้องกันน้ำล้นเหมือง อีกทั้งยังเป็นเสมือนรั้วบ้านไปในตัว คุณนนท์ชอบมานั่งริมระเบียง ได้เห็นทั้งบรรยากาศน้ำไหล ทุ่งนา และวิวภูเขาไปพร้อมๆกัน
เข้ามาสู่ภายในบ้าน เนื่องด้วยเป็นบ้านชั้นเดียว จึงเน้นออกแบบให้รู้สึกโปร่งโล่ง ความสูงอยู่ที่ 5 เมตร อากาศจึงถ่ายเทสะดวก ช่วยลดการสะสมความร้อนได้ดี ภายในห้องรับแขกไม่ติดแอร์ เพียงแค่เปิดประตูบานเฟี้ยมก็จะได้สัมผัสกับลมธรรมชาติอย่างผ่อนคลาย โซฟาที่ตั้งอยู่ในภาพนี้ เป็นผลงานของเพื่อนสนิท กำลังเริ่มต้นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ บ้านคุณนนท์จึงได้เป็นสถานที่เก็บผลงานชิ้นแรกของเพื่อนไว้ การออกแบบโซฟามุ่งเน้นความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย โดยภายนอกตกแต่งด้วยหวายสาน ทำให้ได้กลิ่นอายของความเป็นไทย เบาะนั่งหุ้มหนังสีดำเข้ากับบ้านสไตล์ลอฟท์ ขอบบนโซฟาใช้วัสดุไม้สามารถตั้งวางของตกแต่งได้ จะสังเกตได้ว่าการจัดวางโซฟา คุณนนท์ไม่ได้วางชิดติดผนัง นั่นเป็นเพราะด้านหลังโซฟามีลิ้นชักไว้สำหรับเก็บของ นับได้ว่าเป็นโซฟาตัวโปรดที่มีคุณค่าทางจิตใจมากครับ
ห้องครัว ทำเป็นเคาน์เตอร์ปูน ก่ออิฐโชว์แนวและท็อปหินแกรนิตสีดำโทนสีดำจะล้อกับพื้นภายในบ้าน โดยตัวเคาน์เตอร์เป็นเสมือนการกั้นขอบเขตห้องให้ดูมีสัดส่วน อีกทั้งยังใช้เป็นพื้นที่จิบกาแฟ นั่งทานอาหาร ติดตั้งเครื่องดูดควันจะช่วยลดกลิ่นอาหารไม่ให้ฟุ้งกระจายภายในบ้าน
บันไดเหล็กสีดำ เชื่อมต่อสู่เพดานใต้หลังคา ตรงจุดนี้เดิมทีคุณนนท์ออกแบบให้มีระดับเดียวกันทั้งหลัง แต่เนื่องด้วยผู้รับเหมาเข้าใจผิด ทำมาคนละระดับ ในความผิดพลาดนี่เอง ช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ คุณนนท์จึงนำช่องดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เป็นที่เก็บของ ซึ่งจะมีลักษณะซ่อนตัวไม่ทำให้ดูรก อีกทั้งยังช่วยทำให้บ้านไม่ดูเป็นกล่องมากเกินไปอีกด้วยครับ
ห้องน้ำขนาดพอเหมาะ ไม่กว้าง ไม่แคบจนเกินไป กั้นโซนเปียกแห้งด้วยผนังปูนและบล็อกแก้ว โดยบล็อกแก้วจะช่วยเพิ่มแสงสว่าง ลดความมืดทึบของห้องน้ำ ผนังห้องน้ำด้านในเลือกเป็นหินกาบให้ความรู้สึกผ่อนคลายและดูมีมิติกว่ากระเบื้องทั่วไป
ชั้นดาดฟ้าเชื่อมต่อทางบันไดเหล็กข้างบ้าน เป็นอีกมุมโปรดสบายๆที่สามารถมองเห็นวิวได้ชัดเจนกว่าลานระเบียงชั้นล่าง เป็นวิวทิวทัศน์ที่น่าอิจฉาอย่างยิ่ง คุณนนท์ซื้อโต๊ะ เก้าอี้มาหนึ่งชุดจากบ้านถวาย ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สังสรรค์เมื่อเพื่อนมาเยี่ยมเยือน บ้านสไตล์ลอฟท์ยกสูง สวยๆ
เป็นเช่นไรกันบ้างครับ กับบ้าน ลอฟท์ลานนา บ้านขนาดเล็กที่อาจโดนใจใครหลายคนที่ชื่นชอบบ้านสไตล์ Loft การออกแบบบ้านที่ดีนั้น ควรออกแบบให้เหมาะสมกับตัวเราเอง ทั้งลักษณะการอยู่อาศัย และงบประมาณที่พอเหมาะ ในบางครั้งเราอาจจำเป็นต้องตัดใจจากของสวยงามเกินตัว หันมามองความสวยงามที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด เป็นหลักแห่งความพอเพียงที่นำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างบ้าน บ้านไอเดีย ขอขอบพระคุณ คุณนนท์อีกครั้ง สำหรับการต้อนรับอันอบอุ่น ในตอนต่อไปจะพาไปชมบ้านสมาชิกหลังใด
แม้หน้าตาและรูปทรงของบ้านจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่หลายคนคำนึงถึงเมื่อต้องการสร้างบ้านสักหลังของตัวเอง แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าหน้าตาก็คือฟังก์ชันการใช้สอยที่ซ่อนอยู่ภายใน บ่อยครั้งเราจึงมักเจอบ้านที่มีรูปทรงเรียบง่ายแต่ภายในซ่อนฟังก์ชันน่าทึ่งไว้มากมาย เหมือนกับ บ้านปูนเปลือย หลังนี้
ด้วยเพราะผนังส่วนใหญ่เป็นปูนเปลือยที่ดูดิบๆ ในสไตล์ลอฟต์ แต่พอเงยหน้ากลับเจอหลังคาทรงจั่วแบบไทยที่เข้ากันได้ดีกับการยกพื้นบ้านให้สูง และมองเข้าไปภายในก็ยังดูเป็นบ้านที่แสนเรียบโล่งแบบมินิมัล เพราะหัวใจสำคัญของบ้านนี้ไม่ใช่การกำหนดสไตล์ แต่เป็นสิ่งที่ คุณกิ๊ฟท์-เกษรา กิติสุข เจ้าของบ้าน บอกไว้ว่าคือฟังก์ชันทุกพื้นที่ในบ้านซึ่งตอบรับการใช้งานได้ดีที่สุดต่างหาก
บนที่ดินขนาด 160 ตารางวา ที่ครอบครัวกิติสุขซื้อไว้นานหลายปีกว่าคุณกิ๊ฟท์ผู้เป็นลูกสาวจะเรียบจบด้านสถาปัตย์ และพร้อมลงมือออกแบบบ้านของตัวเองร่วมกับ คุณอู-ธเนศ แซ่อู รุ่นพี่สถาปนิกที่ได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์ตัวยง คุณกิ๊ฟท์เริ่มจากการนำพฤติกรรมการใช้ชีวิตของทุกคนในบ้านมาวิเคราะห์ เพื่อออกแบบพื้นที่ใช้งานที่เน้นการใช้สอยร่วมกันให้กลมกลืนและกลมกล่อมที่สุด โดยมีคุณอูช่วยจัดการเรื่องกลไกการก่อสร้าง เพื่อทำให้ความคิดบนแผ่นกระดาษใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมห้องครัวของบ้านถึงเป็นเรือนหลังเล็กที่อยู่ด้านนอกก่อนเข้าบ้าน คุณอูเล่าถึงแนวคิดนี้ว่า “เพราะห้องครัวของบ้านนี้เป็นทั้งห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น มุมปาร์ตี้ ห้องทำงาน และห้องอาหาร ซึ่งไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นในบ้านด้วย ผมเลยแยกครัวออกมาเป็นเรือนเล็กขนาด 4×3 เมตร ทำประตูบานเฟี้ยมกระจกไว้ด้านหน้าให้เปิดออกกว้างเพื่อถ่ายเทอากาศได้ดี และเจาะช่องแสงด้านข้างช่วยให้ครัวโปร่งสว่างขึ้น เวลามีเพื่อนมาปาร์ตี้ทั้งเสียงและกลิ่นก็จะไม่รบกวนคนที่อยู่ในบ้านเลย”
พื้นที่นี้ยังตั้งอยู่ในเขตกฎหมายบังคับทำให้หลังคาของบ้านต้องเป็นรูปทรงจั่ว คุณอูจึงปรับรูปแบบของจั่วให้ดูทันสมัยขึ้น โดยเลือกใช้เมทัลชีทซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าหลังคาทั่วไปและช่วยประหยัดเรื่องโครงสร้างไปได้ แล้วพ่นฉนวนกระดาษไว้ด้านในเพื่อป้องกันความร้อนและดูดซับเสียงรบกวนจากภายนอก ทั้งยังใช้โปรแกรมการคำนวณองศาของหลังคาให้เลี่ยงการซัดสาดของฝน เพิ่มชายคาที่กั้นแนวแสงแดดไม่ให้เข้ามาในบ้าน จึงสามารถนั่งเล่นที่ระเบียงนอกบ้านได้อย่างสบาย แต่หลังคายังช่วยดักลมให้พัดผ่านเพิ่มความเย็นสบายตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ยกพื้นบ้านให้สูงจากพื้น เพื่อให้เกิดช่องอากาศถ่ายเทคลายความอับทึบ และเป็นช่องทางสำหรับการดูแลซ่อมแซมระบบที่ซ่อนอยู่ใต้บ้านไปด้วย
“เราสร้างบ้านขนาดเล็กมากเพราะกลัวดูแลเองไม่ไหว” คุณกิ๊ฟท์เล่าต่อ “มีแค่ 3 ห้องนอน ให้ห้องป๊าม๊าอยู่ชั้นล่างใกล้กับห้องอาหาร พื้นที่ส่วนกลางเน้นเปิดโล่งและใช้วัสดุตกแต่งที่ธรรมดาสามัญแต่พยายามออกแบบฟังก์ชันให้ดูพิเศษ ผนังบ้านนอกจากปูนเปลือยก็เป็นกระจกโปร่ง คือถ้ามองจากภายนอกก็จะเห็นว่าภายในไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็นจริงๆ ชิ้นใหญ่สุดก็เป็นโต๊ะกินข้าวที่เป็นไม้ขนาดยาว ผลงานของอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน ซึ่งเราตั้งใจเลือกให้เป็นอาร์ตพีซของบ้านเลย ที่เหลือก็เป็นตู้บิลท์อินสำหรับเก็บของไม่ให้ดูรกตา”
ความรักในมุมมองที่เรียบโล่งยิ่งเห็นได้ชัดที่สุดภายในห้องนอนของคุณกิ๊ฟท์เอง เพราะนอกจากตู้ไม้บิลท์อินกับหน้าบานแบบเลื่อนสีขาวแล้ว ก็มีแค่ฟูกนอนขนาด 3.50 เมตรปูด้วยผ้านวมสีขาววางนิ่งอยู่บนผ้าผืนบางเหนือพื้นปูนเปลือย ภายใต้ฝ้าเพดานสูงที่โชว์เห็นเส้นสายของจั่วจากมุมหลังคา ที่เหลือคือบรรยากาศของความสงบนิ่งและผ่อนคลายอย่างน่าทึ่ง
“ความจริงกิ๊ฟท์ยังหาเตียงนอนที่ถูกใจไม่ได้ เลยนอนแบบนี้มา 3 ปีแล้วค่ะ (หัวเราะ) ก็ชอบความโล่งๆ ที่ดูไม่รกแบบนี้แหละ กิ๊ฟท์ว่าบ้านเราถึงจะมีขนาดเล็กไม่หรูหราแต่ก็ประสบความสำเร็จในการใช้งานมากจริงๆ”
ในความเล็กซ่อนด้วยฟังก์ชันที่หลากหลาย ในความเรียบซ่อนความสุขไว้มากมาย และในความโล่งยังเปี่ยมไปด้วยความปลอดโปร่งผ่อนคลายที่พอดีกับชีวิต บ้านจะเป็นสไตล์ไหนก็ไม่สำคัญเท่าความรู้สึกที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัยภายใน